7 โรคพืชใน"ทุเรียน"ที่เกษตรกรควรรู้

7 โรคพืชใน"ทุเรียน"ที่เกษตรกรควรรู้

โรคพืชเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังไม่แพ้โรคภัยไข้เจ็บในคน พืชเศรษฐกิจที่สำคัญและราคาแพงอย่างทุเรียนก็เช่นกัน กว่าจะได้ผลสวยๆออกมาอย่างที่เราเห็นตามท้องตลาด ต้องใช้เวลาปลูกอยู่หลายปี ถ้าหากชะล่าใจไปเพียงเล็กน้อยก็อาจเสียทั้งผลผลิตทั้งต้นทุนไปได้มหาศาล

และต่อไปนี้ก็เป็นโรคพืชที่สำคัญในทุเรียน ที่เราได้เลือกแล้วว่าเกษตรกรควรรู้จักและทำความเข้าใจกับวิธีการป้องกันมากเป็นพิเศษ เพราะทุกโรคมีสาเหตุมาจากเชื้อรา สังเกตเห็นไม่ได้ง่ายๆเหมือนแมลงศัตรูพืช อีกทั้งยังสามารถลุกลามได้ไวกว่าที่คิด

7 โรคพืชในทุเรียนที่เกิดมาจากเชื้อรา มีอะไรบ้าง?

1.โรคไฟทอปธอร่า

โรคพืชที่สร้างปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเป็นอันดับ 1 สำหรับโรคไฟทอปธอร่านี้ มีสาเหตุมาจาก Phytophthora spp. โดยตัวเชื้อจะเริ่มแพร่เข้าสู่ทุเรียนได้ทั้งทางรากและโคนต้น จากนั้นจะเริ่มไปทางท่อลำเลียงน้ำ และลุกลามไปทั่วลำต้น อาการของโรคแสดงออกมาได้หลายอย่าง เช่น รากเน่า โคนเน่า ใบเหลือง แห้ง และร่วง ทั้งหมดนี้สามารถทำความเสียหายได้ตั้งแต่ผลทุเรียนไม่สมบูรณ์ ไปจนถึงทุเรียนเสียหายทั้งต้นจนต้องโค่นทิ้ง แต่ประเด็นที่น่ากลัวจริงๆอยู่ตรงที่ว่า ถึงแม้จะโค่นทุเรียนต้นเดิมทิ้งไปแล้ว ถ้าหากมีการปลูกทุเรียนใหม่ในพื้นที่เดิม ตัวเชื้อก็อาจจะยังอยู่ได้ และทำลายทุเรียนต้นใหม่ไปได้เรื่อยๆไม่รู้จบ ถ้าหากเกษตรกรไม่ลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง

2.โรคแอนแทรคโนส

เกิดมาจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides  จะเข้าทำลายต้นทุเรียนในช่วงที่ช่อดอกเริ่มบาน ดังนั้นจะสังเกตเห็นได้โดยง่ายว่าดอกจะมีสีช้ำๆดำๆ และมีรอยราสีเทาๆด้วยปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้โรคยิ่งลุกลาม คือการที่เกษตรกรปลูกทุเรียนติดกันมากเกินไป และพุ่มกิ่งทุเรียนรกเกินไป ดังนั้นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ คือควรเว้นระยะห่างของทุเรียนแต่ละต้น อีกทั้งยังควรหมั่นตัดแต่งพุ่มกิ่งให้โปร่งๆ

3. โรคใบติด

เชื้อราที่เป็นต้นเหตุคือ Rhizoctonia solani  อาการที่พบได้เบื้องต้นคือใบจะมีรอยจุดๆ ไหม้ๆ เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วลุกลามได้ทั้งใบ

ในช่วงหน้าฝน โรคนี้จะยิ่งระบาดง่ายมากเป็นพิเศษ และเพียงแค่ใบที่มีอาการของโรคไปสัมผัสถูกใบอื่นที่ปรกติดี ก็สามารถทำให้ใบอื่นติดโรคไปด้วย และก็จะลุกลามไปได้(เกือบ)ทั้งต้น ดังนั้นถ้าเกษตรกรคนไหนปลูกทุเรียนแบบติดแน่นกันเกินไป ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มเปอร์เซ็นต์การลุกลามของโรค เพราะใบทุเรียนจะสีกันตลอดเวลา

4. โรคราสีชมพู

เกิดมาจากเชื้อราชื่อ Cortricium Salmonicolor อาการของโรคจะสังเกตได้ชัดที่กิ่ง คือกิ่งจะดูแห้งๆ มีจุดสีเหลืองๆขึ้นตะปุ่มตะป่ำและร่วงหล่นลงไปเป็นครั้งๆ นอกจากนี้จะมีเส้นใยเชื้อราเป็นขุยๆสีชมพูด้วย ถ้าปล่อยไว้นานๆกิ่งจะเริ่มแตก และแห้งตายได้

ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องตาไว สังเกตให้ดีว่ากิ่งไหนมีอาการของโรค ให้รีบตัดออกและนำไปเผาทิ้ง เพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจาย นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งทุเรียนให้อากาศถ่ายเทง่ายก็เป็นอีกหนทางที่ดี

 5. โรคราแป้ง

เชื้อราที่เป็นตัวการคือ Oidium sp. โดยสามารถเข้าทำลายทุเรียนได้ตั้งแต่ช่วงดอกบานจนถึงช่วงเริ่มติดผล อาการที่พบคือ บริเวณดอกหรือผลจะมีผงเชื้อราสีขาวๆคล้ายแป้ง ทำให้ไปรบกวนการเจริญเติบโตของทุเรียน ผลออกมาไม่สวย รสชาติไม่ดี ไม่สามารถนำไปขายได้

6. โรคราดำ

สาเหตุคือเชื้อรา Polychaeton sp., Tripospermum sp.  ส่วนที่จะเสียหายคือผล อาการที่พบคือผลจะมีรอยแผลสีดำๆประปราย ทำให้ผลทุเรียนราคาตกได้หรืออาจขายไม่ได้เลย เนื่องจากมีตำหนิ

โรคราดำมีพาหะนำโรคที่สำคัญคือเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไก่แจ้

7. โรคผลเน่า

สาเหตุคือเชื้อราชื่อ Phytophthora palmivora ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับโรครากเน่าและโคนเน่า สามารถเข้าทำลายผลทุเรียนได้ทั้งช่วงอ่อนและช่วงแก่ อาการของโรคที่สังเกตได้คือ ผลทุเรียนจะมีรอยราขาวๆ ดูคล้ายผงแป้ง มีรอยช้ำเป็นจ้ำๆ เน่าไปถึงเนื้อได้ ทำให้ผลทุเรียนขายไม่ได้ราคา

ทันทีที่เกษตรกรสังเกตเห็นอาการของโรค อย่าเสียดาย ให้รีบนำผลที่เป็นโรคไปเผาทิ้งไม่อย่างนั้นแล้วทุเรียนลูกอื่นๆจะติดโรคไปด้วย และเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ควรป้องกันและกำจัดรากเน่าโคนเน่าควบคู่กันไปด้วย