ม้าทองเตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง “โรคเมล็ดด่าง” ของข้าว

ม้าทองเตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง “โรคเมล็ดด่าง” ของข้าว

เตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง “โรคเมล็ดด่าง” หรือ “โรคเมล็ดลาย” ของข้าว

  ซึ่งโรคเมล็ดด่างมักพบอาการของโรคตั้งแต่ข้าวเริ่มออกรวง โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศชื้น ท้องฟ้าครึ้มติดต่อกัน หรือในแปลงข้าวที่มีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูง หว่านข้าวหนาแน่น (กอแน่น ต้นข้าวชิดกันมาก) โรคเมล็ดด่าง จะทำให้เมล็ดข้าวลีบ ผลผลิตลดลงทั้งคุณภาพและปริมาณ ควรป้องกันโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชตั้งแต่ระยะข้าวเริ่มตั้งท้อง และพ่นอีกครั้งในระยะรวงข้าวเริ่มโง้ง

ลักษณะอาการของโรค

  อาการของโรค จะพบแผลสีต่าง ๆ เช่น เป็นจุดสีน้ำตาลหรือดำ หรือมีลายสีน้ำตาลดำ หรือสีเทาปนชมพูที่เมล็ดบนรวงข้าว เพราะมีเชื้อราหลายชนิดที่สามารถเข้าทำลาย การเข้าทำลายของเชื้อรามักจะเกิดในช่วงดอกข้าวเริ่มโผล่จากกาบหุ้มรวง  จนถึงระยะเมล็ดข้าวเริ่มเป็นน้ำนม และอาการเมล็ดด่าง จะเห็นได้เด่นชัดในระยะใกล้เก็บเกี่ยว เชื้อราสามารถแพร่กระจายไปกับลมหรือติดไปกับเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งการระบาดจะสัมพันธ์กับโรคของต้นข้าวในระยะก่อนออกรวง เช่น โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบขีดสีน้ำตาล และโรคไหม้ เป็นต้น นอกจากนี้จะพบช่วงข้าวออกรวงในสภาพอุณหภูมิ ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียล ทำให้รวงข้าวยืดออกไม่สุดรวง เมื่อสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นจะทำให้ข้าวเป็นโรคเมล็ดด่าง

สาเหตุของโรคเมล็ดด่าง

  โรคเมล็ดด่าง หรือโรคเมล็ดลายในนาข้าว มีสาเหตุเกิดจากเชื้อราหลายชนิด ที่พบมากมีเชื้อราประมาณ 6 ชนิด ได้แก่ Curvularia lunata, Cercospora oryzae, Bipolaris oryzae, Fusarium semitectum, Trichoconis padwickii, Sarocladium oryzae ซึ่งสามารถพบการระบาดของโรคได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยและทุกฤดูการเพาะปลูก เกษตรกรควรหมั่นเฝ้าสังเกตอาการของโรค หรือพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชป้องกันไว้ก่อน